วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

การเตรียมความพร้อมในการรับมือจากวิกฤติเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม


จากปรากฏการณ์ น้ำท่วมใหญ่ 2554 ทที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้บทเรียนเอย่างมากมาย แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของภาครัฐ ทั้งในด้านการปรับปรุงโครงสร้างการระบายน้ำ ขั้นตอนการบริหารจัดการ การวางแผนสำรอง การสื่อสารกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ความเด็ดขาดในการสั่งการของผู้นำ และการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งสำคัญมากในการฝ่าวิกฤติ
การเตรียมความพร้อมในการรับมือจากวิกฤติเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากปัญหาอุทกภัยที่ขึ้นอีกในอนาคต การพร้อมในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งต่อๆไป เราควรมีวิธีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง

(เชิญร่วมแนะแนวทางการเตรียมรับมือ)

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานนคร ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตการณ์ การพัฒนาเมืองหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ผ่านมา...

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง (กรุงเทพมหานคร)

            ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองมักจะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญรุดหน้าในด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังเช่น กรุงเทพมหานครซึ่งประสบกับภาวะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แรงกดดันจากประชากรที่กำลังขยายตัว มีผล ทำให้เขตกรุงเทพฯ ต้องมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปภายนอกคือ บริเวณวงแหวนรอบนอก ทั้งนี้เนื่องมาจากความอิ่มตัวของพื้นที่ชั้นใน ซึ่งมีการพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แล้ว ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต รายละเอียดของปัญหาต่างๆ มีดังนี้

1.      ปัญหาอากาศเสียและเสียงเป็นพิษ
อากาศเสีย
ปัญหาอากาศเสียในเขตกรุงเทพมหานคร โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากควันและไอเสียที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการจราจรที่อยู่ในขั้นวิกฤติ
เสียงเป็นพิษ ปัญหามลพิษทางเสียงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณที่มีกิจกรรมและประชากรอยู่หนาแน่น เช่น เสียงที่เกิดจากการจราจรที่หนาแน่น เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 5 แห่ง ที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน ได้แก่ สีลม ศาลาแดง พร้อมพงษ์ สะพานควาย และอนุสาวรีย์ขัยสมรภูมิ

2.      ปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม
ปัจจุบันคูคลองสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร กลายสภาพเป็นแหล่ง รองรับน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดหรือบำบัดไม่สมบูรณ์จากชุมชนและโรงงาน ต่างๆ เนื่องจากสิ่งสกปรกที่ปนในน้ำทิ้งจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม การเกษตรกรรม ปศุสัตว์ มูลฝอยและสิ่งปฏิกูล อันประกอบด้วยอินทรียสาร และอนินทรียสารต่างๆ จำนวนมาก ถูกระบายลงสู่ลำคลองต่างๆ ส่งผลให้คุณภาพ น้ำในคลองเสื่อมโทรม

3.      ปัญหามูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
มูลฝอยชุมชน
ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมาณมูลฝอยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ไม่สามารถเก็บขนได้หมด มีมูลฝอยเหลือตกค้างอยู่ตามบ้านเรือนประชาชนและกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ

4.      ปัญหาชุมชนแออัด
พื้นที่เมืองชั้นใน ซึ่งอยู่ในแนวถนนรัชดาภิเษกหรืออยู่ในแนวรัศมี มีระยะห่างจากใจ กลางเมืองประมาณ 0-20 กิโลเมตร ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความเจริญในด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร และเป็นเนื้อเมือง (Buildup Area) ของกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้พื้นที่ในเขตดังกล่าวเป็นแหล่งที่มีการจ้างงาน และมีการก่อสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการคมนาคมที่มีโครงข่ายกว้างขวาง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งดึงดูดให้คนในชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง และเกิดการตั้งถิ่นฐานอย่างไม่ถาวรในที่สาธารณะในส่วนต่างๆ ของกรุงเทพฯ ขึ้น เมื่อนานวันเข้าชุมชนเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น บ้านเรือนที่ปลูกสร้าง อย่างง่ายๆ มีการเบียดเสียดกันหนาแน่น จนกลายเป็นชุมชนที่เราเรียกกันว่า ชุมชน

5.      ปัญหามลทัศน์ (Visual Pollution)
มลทัศน์ (Visual Pollution) หรือเรียกว่า มลภาวะทางสายตาหรือทัศนอุจาด เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมืองที่เหมือนกับปัญหาน้ำเสีย อากาศเสีย เสียงดัง การจราจรคับคั่ง เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยจากการรับรู้ได้โดยการสูดกลิ่น การได้ยิน ในขณะที่การรับรู้ทางด้านมลทัศน์จะรับรู้ได้โดยการมอง (Visual Perception) ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย แต่จะทำให้ภูมิทัศน์เมือง (Urban Landscape) ไม่มีความสวยงาม ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยขององค์ประกอบของเมือง ได้แก่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งบริการและอำนวยความสะดวกต่อชุมชน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์บนถนน (Street Furniture) ป้ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์บริเวณอาคารต่างๆ แออัด

6.      ปัญหาน้ำท่วม
กรุงเทพมหานครอยู่ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาหลายครั้งด้วยกันก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย จากการที่กรุงเทพมหานครมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการขยายตัวไปตามแนวถนนสายหลัก (Ribbon Development) มีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อมีฝนตกเป็นปริมาณมาก ประกอบกับไหลบ่าของน้ำเหนือในฤดูฝน สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะไปกีดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือปัญหาแผ่นดินทรุดเนื่องจากการสูบน้ำบาดาล ซึ่งเดิมกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ราบต่ำอยู่แล้ว เมื่อเกิดน้ำท่วมขังทำให้น้ำระบายได้ยากกว่าเดิม ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ปัญหาน้ำท่วมจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงน้ำทะเลหนุน ซึ่งจะไม่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

การเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นเมืองที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชากร



การกระทำใด ๆ ของประชากรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมมีผลเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในระบบด้วย และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชากรด้วย ดังนี้

1. ทำให้เกิดความอดอยากและขาดแคลน การเพิ่มจำนวนประชากรย่อมทำให้เกิดความต้องการปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย การขยายที่ดินเพื่อการเพาะปลูก การทำเกษตรกรรม การสร้างที่อยู่อาศัย การตัดไม้ทำลายป่า การขุดค้นแร่ธาตุมาใช้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนทรัพยากรลดลง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ระบบนิเวศขาดความสมดุล ก่อให้เกิดความอดอยากในหมู่ประชากรและการขาดแคลน
ทรัพยากรธรรมชาติ

2. ทำให้เกิดความยากจน ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน เป็นผลเนื่องมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากร ทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นเพื่อการดำรงชีวิต ประกอบกับการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ขาดประสิทธิภาพและขาดการรู้จักแบ่งปันของมนุษย์ ทำให้ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ความยากจนจึงเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ ของสังคมที่ไม่รู้หนังสือ ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหาสลัม ปัญหาแรงงานเด็ก ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโสเภณี การอพยพย้ายถิ่น ความหิวโหย การว่างงาน เป็นต้น

3. ทำให้เกิดปัญหาด้านมลพิษและมลภาวะ การที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดชุมชนหรือเมือง
มากขึ้น สิ่งจำเป็นตามมาก็คือ ถนน ไฟฟ้า ประปา โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ ดังนั้นรัฐจะต้องจัดบริการด้าน
สาธารณูปโภคเหล่านี้ให้ทันกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาที่จะตามมาอีกก็คือ ทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลมากขึ้น ปัญหาการจราจรหนาแน่นและติดขัด นำไปสู่ปัญหามลพิษและมลภาวะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับสิ่งแวดล้อม

ประชากรมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นซึ่งในอดีตปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่เกิดขึ้นมากนัก เนื่องจากประชากรในยุคนั้น ๆ มีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงสามารถปรับสมดุลของตัวเองได้ แต่เมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น ประชากรขวนขวายหาความสุขสบายมากขึ้น มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น และเกือบทุกประเทศต่างก็มุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงปรากฏให้เห็น
            การเพิ่มจำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว มิใช่เป็นตัวการที่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วแต่พฤติกรรมการกระทำของมนุษย์เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่างหากที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและสภาพแวดล้อมแปรปรวนไป
จุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนาประชากรของประเทศ คือ เพื่อให้ประชากรได้รับสวัสดิการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ประชากรจึงมีบทบาทสำคัญในการประเมินความต้องการของสังคมในเรื่องการจ้างงาน การศึกษา การบริการด้านสุขภาพและที่อยู่อาศัย ความต้องการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจสัมพันธ์กับจำนวนประชากรการกระจายความหนาแน่นของประชากรก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร

เมื่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพถูกทำลายหรือถูกใช้ไป ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การจ้างงานและรายได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เมื่อเกิดมลพิษทางน้ำย่อมเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังนั้น โครงสร้างประชากรและสิ่งแวดล้อมจะต้องกล่าวถึงบทบาทของรัฐในการดำเนินการจัดใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกต้องและรอบคอบไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประเทศรวมทั้งนโยบายของชุมชน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมไปเร็วกว่านี้ หรือเพื่อให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด
จากโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชากรและสิ่งแวดล้อมจะเห็นได้ว่า มีตัวแปรพื้นฐานด้านประชากร3 ตัว คือ การเกิด การตาย และการย้ายถิ่น ถ้ามองในภาพรวมตัวแปรดังกล่าวส่งผลต่อการบริโภคและบริการต่าง ๆ ซึ่งความต้องการดังกล่าวจัดหาได้ 2 ทาง คือ จากธรรมชาติ และการผลิตทางเศรษฐกิจซึ่งทั้ง 2 วิธี ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

"ความเป็นเมือง"และ"กระบวนการทางอุตสาหกรรม"

คำว่า ความเป็นเมือง นั้น หมายถึง กระบวนการที่นำไปสู่การเกิดของเมือง ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร และมีการจัดสรรทรัพยากรพื้นที่ของโลกให้เป็นที่อยู่ของประชาชนจำนวนมหาศาล ด้วยการเปลี่ยนแปลงและปรุงแต่งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้กลายเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างใหม่ที่เหมาะแก่การอยู่รวมกันของมนุษย์จำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้
           การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยในลักษณะของเมือง มีปัญหาเกิดขึ้นในภายหลังก็คือปัญหาความแออัดของชุมชน เนื่องจากเมืองมีเนื้อที่ขยายได้ไม่มากแต่ประชากรมีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อมีการขยายในแนวราบไม่ได้ก็มีการขยายในแนวตั้ง เช่น เป็นตึกสูง ๆ มีหลายสิบชั้น ในแนวราบก็มีการแบ่งซอยเนื้อที่ออกเป็นพื้นที่แคบ ๆ แต่บรรจุประชากรไว้มากครอบครัวด้วยกัน ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในการกิน การหายใจ และการถ่ายเทของเสีย ปัญหาความสกปรกเนื่องจากขาดสุขลักษณะนำเชื้อโรคสู่คน สัตว์ และพืช จึงมักจะพูดกันเสมอว่า ชุมชนแออัดเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ทำอันตรายต่อระบบชีวิตของมนุษย์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในชุมชนนั้นเอง หรืออยู่บริเวณใกล้เคียงก็ตาม
           มนุษย์ได้ดัดแปลงสิ่งแวดล้อมทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกิจ เพื่อหาปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพอย่างมากในปัจจุบัน ในอดีตมนุษย์ประกอบอาชีพทางการเกษตรเพื่อหาผลลิตผลเลี้ยงชีพ โดยดัดแปลงพื้นที่และส่วนประกอบของพื้นที่ที่ไม่มากนัก ในปัจจุบันมนุษย์ได้เพิ่มกระบวนการผลิตอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพขึ้นหลายรูปแบบ ซึ่งเรียกว่า กระบวนการทางอุตสาหกรรม

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

มนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมที่มหัศจรรย์ประเภทหนึ่ง มนุษย์มีขีดความสามารถเหนือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  มนุษย์สามารถนำสิ่งแวดล้อมหนึ่งมาดัดแปลงให้เป็นสิ่งแวดล้อมใหม่  พฤติกรรมของมนุษย์มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งส่งผลดีและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม   ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์   พฤติกรรมของมนุษย์จะเป็นไปตามสิ่งแวดล้อม
กล่าวได้ว่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม   การกระทำใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยเสมอ    ด้วยเหตุดังนี้ การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  เพื่อจะได้รู้จักใช้สิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เพื่อให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และเพื่อมิให้เราทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ในส่วนของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ   เป็นปัจจัยเบื้องต้นในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าในด้านการตั้งถิ่นฐาน ด้านลักษณะของที่อยู่อาศัย ด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น  แต่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะสามารถกำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้มากน้อยเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์เอง
ส่วน สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น    ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกันที่มีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การที่มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการมากขึ้น ทำให้มนุษย์หาทางที่จะใช้สิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ   ทำให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการของมนุษย์ ก็ได้สร้างสิ่งที่เลวร้ายให้เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อม  เช่น  ก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยออกสู่อากาศ ทำให้อากาศเป็นพิษ

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปรากฏการณ์ การกลายเป็นเมือง

จากปรากฏการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ประชากรในชนบทได้ย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยในเมือง เพื่อโอกาสในทางเศรษฐกิจ ทั้งทำการค้าขายหรือทำงานในสำนักงาน หรือในชนบทหลายแห่ง เช่นอำเภอที่เคยห่างไกลเพราะการคมนาคมไม่สะดวก ได้กลายเป็นชุมชนเมืองขนาดย่อม โดยมีลักษณะของความเป็นเมือง อาทิ ผู้คนอยู่อาศัยกระจุกตัวกัน ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบตลาด และใช้บริการระบบสาธารณูปโภคอย่างทั่วถึง
                การกลายเป็นเมือง มีผลต่อสิ่งมีชีวิตและไม่มีสิ่งชีวิต อย่างทั่วถึงกันทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลมาจากการกลายเป็นเมืองนี้ อาทิเช่น วิถีชีวิตผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงไป (จากที่เคยหาผักหาปลามาทำกับข้าวกิน ก็เปลี่ยนเป็นซื้อกับข้าวปรุงสำเร็จจากซุปเปอร์มาร์เก็ต จากที่เคยมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมต่างๆ นานา ก็อาจจะต้องมาอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ห้องเล็กๆ) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเปลี่ยนไป (จากที่เคยอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็เป็นความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ คือเป็นพ่อค้าลูกค้ากัน เป็นต้น)  
แม้ว่า คนจะเป็นผู้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะคนอย่างเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการกลายเป็นเมือง สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน การที่คนเข้าไปอาศัยอยู่หนาแน่นในพื้นที่หนึ่ง จำเป็นต้องทำให้สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต (เช่น ก้อนหิน ภูเขา น้ำตก ฯลฯ) ที่เคยอยู่มาก่อนจำเป็นต้องหลีกทางให้ หรือหากจะกล่าวให้ถูกก็คือ ต้องปรับตัวสิ่งมีชีวิตพวกที่แข็งแรงก็สามารถปรับตัวให้เข้าอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่มีสภาพเป็นเมือง พวกที่อ่อนแอก็จำเป็นต้องสูญหายตายจากไปจากพื้นที่นั้นๆ พวกที่พอมีกำลังอยู่บ้างก็อาจย้ายถิ่นที่อยู่ออกไปอยู่ที่ใกล้เคียงที่ยังพอมีสภาพเดิมดังที่เป็นอยู่