วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

การเตรียมความพร้อมในการรับมือจากวิกฤติเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม


จากปรากฏการณ์ น้ำท่วมใหญ่ 2554 ทที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้บทเรียนเอย่างมากมาย แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของภาครัฐ ทั้งในด้านการปรับปรุงโครงสร้างการระบายน้ำ ขั้นตอนการบริหารจัดการ การวางแผนสำรอง การสื่อสารกับภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ความเด็ดขาดในการสั่งการของผู้นำ และการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งสำคัญมากในการฝ่าวิกฤติ
การเตรียมความพร้อมในการรับมือจากวิกฤติเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากปัญหาอุทกภัยที่ขึ้นอีกในอนาคต การพร้อมในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งต่อๆไป เราควรมีวิธีการเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง

(เชิญร่วมแนะแนวทางการเตรียมรับมือ)

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานนคร ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตการณ์ การพัฒนาเมืองหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่ผ่านมา...

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง (กรุงเทพมหานคร)

            ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองมักจะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญรุดหน้าในด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังเช่น กรุงเทพมหานครซึ่งประสบกับภาวะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แรงกดดันจากประชากรที่กำลังขยายตัว มีผล ทำให้เขตกรุงเทพฯ ต้องมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปภายนอกคือ บริเวณวงแหวนรอบนอก ทั้งนี้เนื่องมาจากความอิ่มตัวของพื้นที่ชั้นใน ซึ่งมีการพัฒนาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่แล้ว ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต รายละเอียดของปัญหาต่างๆ มีดังนี้

1.      ปัญหาอากาศเสียและเสียงเป็นพิษ
อากาศเสีย
ปัญหาอากาศเสียในเขตกรุงเทพมหานคร โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากควันและไอเสียที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการจราจรที่อยู่ในขั้นวิกฤติ
เสียงเป็นพิษ ปัญหามลพิษทางเสียงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณที่มีกิจกรรมและประชากรอยู่หนาแน่น เช่น เสียงที่เกิดจากการจราจรที่หนาแน่น เช่น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 5 แห่ง ที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน ได้แก่ สีลม ศาลาแดง พร้อมพงษ์ สะพานควาย และอนุสาวรีย์ขัยสมรภูมิ

2.      ปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม
ปัจจุบันคูคลองสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร กลายสภาพเป็นแหล่ง รองรับน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดหรือบำบัดไม่สมบูรณ์จากชุมชนและโรงงาน ต่างๆ เนื่องจากสิ่งสกปรกที่ปนในน้ำทิ้งจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม การเกษตรกรรม ปศุสัตว์ มูลฝอยและสิ่งปฏิกูล อันประกอบด้วยอินทรียสาร และอนินทรียสารต่างๆ จำนวนมาก ถูกระบายลงสู่ลำคลองต่างๆ ส่งผลให้คุณภาพ น้ำในคลองเสื่อมโทรม

3.      ปัญหามูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
มูลฝอยชุมชน
ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมาณมูลฝอยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ไม่สามารถเก็บขนได้หมด มีมูลฝอยเหลือตกค้างอยู่ตามบ้านเรือนประชาชนและกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ

4.      ปัญหาชุมชนแออัด
พื้นที่เมืองชั้นใน ซึ่งอยู่ในแนวถนนรัชดาภิเษกหรืออยู่ในแนวรัศมี มีระยะห่างจากใจ กลางเมืองประมาณ 0-20 กิโลเมตร ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและความเจริญในด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร และเป็นเนื้อเมือง (Buildup Area) ของกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้พื้นที่ในเขตดังกล่าวเป็นแหล่งที่มีการจ้างงาน และมีการก่อสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการคมนาคมที่มีโครงข่ายกว้างขวาง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งดึงดูดให้คนในชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง และเกิดการตั้งถิ่นฐานอย่างไม่ถาวรในที่สาธารณะในส่วนต่างๆ ของกรุงเทพฯ ขึ้น เมื่อนานวันเข้าชุมชนเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น บ้านเรือนที่ปลูกสร้าง อย่างง่ายๆ มีการเบียดเสียดกันหนาแน่น จนกลายเป็นชุมชนที่เราเรียกกันว่า ชุมชน

5.      ปัญหามลทัศน์ (Visual Pollution)
มลทัศน์ (Visual Pollution) หรือเรียกว่า มลภาวะทางสายตาหรือทัศนอุจาด เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมืองที่เหมือนกับปัญหาน้ำเสีย อากาศเสีย เสียงดัง การจราจรคับคั่ง เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยจากการรับรู้ได้โดยการสูดกลิ่น การได้ยิน ในขณะที่การรับรู้ทางด้านมลทัศน์จะรับรู้ได้โดยการมอง (Visual Perception) ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย แต่จะทำให้ภูมิทัศน์เมือง (Urban Landscape) ไม่มีความสวยงาม ไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยขององค์ประกอบของเมือง ได้แก่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งบริการและอำนวยความสะดวกต่อชุมชน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์บนถนน (Street Furniture) ป้ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์บริเวณอาคารต่างๆ แออัด

6.      ปัญหาน้ำท่วม
กรุงเทพมหานครอยู่ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง ปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาหลายครั้งด้วยกันก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย จากการที่กรุงเทพมหานครมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการขยายตัวไปตามแนวถนนสายหลัก (Ribbon Development) มีการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อมีฝนตกเป็นปริมาณมาก ประกอบกับไหลบ่าของน้ำเหนือในฤดูฝน สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะไปกีดขวางการไหลของน้ำตามธรรมชาติ และสาเหตุอีกประการหนึ่งคือปัญหาแผ่นดินทรุดเนื่องจากการสูบน้ำบาดาล ซึ่งเดิมกรุงเทพฯเป็นพื้นที่ราบต่ำอยู่แล้ว เมื่อเกิดน้ำท่วมขังทำให้น้ำระบายได้ยากกว่าเดิม ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ปัญหาน้ำท่วมจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วงน้ำทะเลหนุน ซึ่งจะไม่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

การเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นเมืองที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชากร



การกระทำใด ๆ ของประชากรต่อสิ่งแวดล้อมย่อมมีผลเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในระบบด้วย และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชากรด้วย ดังนี้

1. ทำให้เกิดความอดอยากและขาดแคลน การเพิ่มจำนวนประชากรย่อมทำให้เกิดความต้องการปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย การขยายที่ดินเพื่อการเพาะปลูก การทำเกษตรกรรม การสร้างที่อยู่อาศัย การตัดไม้ทำลายป่า การขุดค้นแร่ธาตุมาใช้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนทรัพยากรลดลง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม ระบบนิเวศขาดความสมดุล ก่อให้เกิดความอดอยากในหมู่ประชากรและการขาดแคลน
ทรัพยากรธรรมชาติ

2. ทำให้เกิดความยากจน ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน เป็นผลเนื่องมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากร ทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นเพื่อการดำรงชีวิต ประกอบกับการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ขาดประสิทธิภาพและขาดการรู้จักแบ่งปันของมนุษย์ ทำให้ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ความยากจนจึงเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ ของสังคมที่ไม่รู้หนังสือ ปัญหาสุขภาพอนามัย ปัญหาสลัม ปัญหาแรงงานเด็ก ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโสเภณี การอพยพย้ายถิ่น ความหิวโหย การว่างงาน เป็นต้น

3. ทำให้เกิดปัญหาด้านมลพิษและมลภาวะ การที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดชุมชนหรือเมือง
มากขึ้น สิ่งจำเป็นตามมาก็คือ ถนน ไฟฟ้า ประปา โรงพยาบาล โรงเรียน ฯลฯ ดังนั้นรัฐจะต้องจัดบริการด้าน
สาธารณูปโภคเหล่านี้ให้ทันกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาที่จะตามมาอีกก็คือ ทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลมากขึ้น ปัญหาการจราจรหนาแน่นและติดขัด นำไปสู่ปัญหามลพิษและมลภาวะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรกับสิ่งแวดล้อม

ประชากรมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นซึ่งในอดีตปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่เกิดขึ้นมากนัก เนื่องจากประชากรในยุคนั้น ๆ มีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงสามารถปรับสมดุลของตัวเองได้ แต่เมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้น ประชากรขวนขวายหาความสุขสบายมากขึ้น มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น และเกือบทุกประเทศต่างก็มุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงปรากฏให้เห็น
            การเพิ่มจำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว มิใช่เป็นตัวการที่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วแต่พฤติกรรมการกระทำของมนุษย์เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นต่างหากที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและสภาพแวดล้อมแปรปรวนไป
จุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนาประชากรของประเทศ คือ เพื่อให้ประชากรได้รับสวัสดิการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ประชากรจึงมีบทบาทสำคัญในการประเมินความต้องการของสังคมในเรื่องการจ้างงาน การศึกษา การบริการด้านสุขภาพและที่อยู่อาศัย ความต้องการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจสัมพันธ์กับจำนวนประชากรการกระจายความหนาแน่นของประชากรก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร

เมื่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพถูกทำลายหรือถูกใช้ไป ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การจ้างงานและรายได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เมื่อเกิดมลพิษทางน้ำย่อมเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ดังนั้น โครงสร้างประชากรและสิ่งแวดล้อมจะต้องกล่าวถึงบทบาทของรัฐในการดำเนินการจัดใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกต้องและรอบคอบไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประเทศรวมทั้งนโยบายของชุมชน และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมไปเร็วกว่านี้ หรือเพื่อให้เกิดปัญหากับสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด
จากโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชากรและสิ่งแวดล้อมจะเห็นได้ว่า มีตัวแปรพื้นฐานด้านประชากร3 ตัว คือ การเกิด การตาย และการย้ายถิ่น ถ้ามองในภาพรวมตัวแปรดังกล่าวส่งผลต่อการบริโภคและบริการต่าง ๆ ซึ่งความต้องการดังกล่าวจัดหาได้ 2 ทาง คือ จากธรรมชาติ และการผลิตทางเศรษฐกิจซึ่งทั้ง 2 วิธี ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

"ความเป็นเมือง"และ"กระบวนการทางอุตสาหกรรม"

คำว่า ความเป็นเมือง นั้น หมายถึง กระบวนการที่นำไปสู่การเกิดของเมือง ซึ่งรวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร และมีการจัดสรรทรัพยากรพื้นที่ของโลกให้เป็นที่อยู่ของประชาชนจำนวนมหาศาล ด้วยการเปลี่ยนแปลงและปรุงแต่งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้กลายเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างใหม่ที่เหมาะแก่การอยู่รวมกันของมนุษย์จำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้
           การสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยในลักษณะของเมือง มีปัญหาเกิดขึ้นในภายหลังก็คือปัญหาความแออัดของชุมชน เนื่องจากเมืองมีเนื้อที่ขยายได้ไม่มากแต่ประชากรมีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อมีการขยายในแนวราบไม่ได้ก็มีการขยายในแนวตั้ง เช่น เป็นตึกสูง ๆ มีหลายสิบชั้น ในแนวราบก็มีการแบ่งซอยเนื้อที่ออกเป็นพื้นที่แคบ ๆ แต่บรรจุประชากรไว้มากครอบครัวด้วยกัน ทำให้เกิดปัญหาต่อระบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในการกิน การหายใจ และการถ่ายเทของเสีย ปัญหาความสกปรกเนื่องจากขาดสุขลักษณะนำเชื้อโรคสู่คน สัตว์ และพืช จึงมักจะพูดกันเสมอว่า ชุมชนแออัดเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ทำอันตรายต่อระบบชีวิตของมนุษย์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในชุมชนนั้นเอง หรืออยู่บริเวณใกล้เคียงก็ตาม
           มนุษย์ได้ดัดแปลงสิ่งแวดล้อมทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกิจ เพื่อหาปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพอย่างมากในปัจจุบัน ในอดีตมนุษย์ประกอบอาชีพทางการเกษตรเพื่อหาผลลิตผลเลี้ยงชีพ โดยดัดแปลงพื้นที่และส่วนประกอบของพื้นที่ที่ไม่มากนัก ในปัจจุบันมนุษย์ได้เพิ่มกระบวนการผลิตอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพขึ้นหลายรูปแบบ ซึ่งเรียกว่า กระบวนการทางอุตสาหกรรม

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

มนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมที่มหัศจรรย์ประเภทหนึ่ง มนุษย์มีขีดความสามารถเหนือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  มนุษย์สามารถนำสิ่งแวดล้อมหนึ่งมาดัดแปลงให้เป็นสิ่งแวดล้อมใหม่  พฤติกรรมของมนุษย์มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งส่งผลดีและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม   ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์   พฤติกรรมของมนุษย์จะเป็นไปตามสิ่งแวดล้อม
กล่าวได้ว่ามนุษย์และสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม   การกระทำใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ย่อมมีผลตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยเสมอ    ด้วยเหตุดังนี้ การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  เพื่อจะได้รู้จักใช้สิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เพื่อให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และเพื่อมิให้เราทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ในส่วนของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ   เป็นปัจจัยเบื้องต้นในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าในด้านการตั้งถิ่นฐาน ด้านลักษณะของที่อยู่อาศัย ด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น  แต่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติจะสามารถกำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์ได้มากน้อยเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์เอง
ส่วน สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น    ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกันที่มีความสำคัญในการกำหนดรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การที่มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการมากขึ้น ทำให้มนุษย์หาทางที่จะใช้สิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ   ทำให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการของมนุษย์ ก็ได้สร้างสิ่งที่เลวร้ายให้เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อม  เช่น  ก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยออกสู่อากาศ ทำให้อากาศเป็นพิษ